โครงการปลูกปะการังแบบบูรณาการ ตอนที่ 1
สวัสดีครับทุกคน
หลังจากห่างหายจากการเขียนเรื่องบนบล๊อคนี้มานานเป็นปี วันนี้ก็ได้โอกาสจึงอยากนำเรื่องของโครงการปลูกปะการังแบบบูรณาการ บูรณาการยังไง..ก็ประมาณสร้างความมีส่วนร่วมกับคนในท้องถิ่นนั้นๆที่ไปทำโครงการน่ะครับ ครั้งนี้ทางมูลนิธิได้โอกาสร่วมงานกับบริษัท รีฟเมเนจเมนท์ จำกัด
สาเหตุที่เกิดโครงการนี้ขึ้นก็คือตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการเข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรปะการังในพื้นที่เกาะทะลุเพิ่มขึ้นมากนั้นเอง พอมากเข้าก็เริ่มเกิดผลกระทบ ปะการังหักจากความไม่ตั้งใจของนักท่องเที่ยวบ้าง การจัดกิจกรรมดำน้ำในช่วงที่น้ำลงมากๆจนเรือเกิดติดในแนวปะการังบ้างและอีกหลายสาเหตุที่เกิดจากการท่องเท่ียวและการประมง จึงจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูแนวปะการังที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งบางจุดดำน้ำถ้าเราไม่ไปสำรวจ จะไม่รู้เลยว่าตรงนี้ที่เคยมีปะการังสวยๆอยู่ มันหายไปแล้ว กลายเป็นซากปะการังไม่มีปลาซักตัวอยู่แล้ว เราจึงต้องช่วยกันดูแลและฟื้นฟูอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จะเป็นยังไงนั้น เดี๋ยวพาไปดูกันเลยคราบ
ก่อนที่เราจะเริ่มต้นโครงการที่เกาะทะลุ เราก็ต้องไปเรียนรู้ดูงานจากเจ้าของโครงการกันก่อน ทางมูลนิธิฯได้ส่งตัวแทนลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากบริษัท รีฟ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่ได้อำนวยความสะดวก เรื่องการเดินทางไปยังเกาะราชาเพื่อเก็บข้อมูลและเรียนรู้วิธีการปลูกฟื้นฟูบนฐานปะการังธรรมชาติหรือปะการังเทียม
การเดินทางไปเกาะราชาในครั้งนี้เราต้องลงเรือยางขนอุปกรณ์และทีมงานจากปลายสะพานท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง มาขึ้นเรือใหญ่ที่จอดแผ้วอยู่กลางอ่าว เพราะที่ปลายสะพานนี้เรือหนาแน่นมาก
หลังจากโหลดของและทีมงานครบทุกคนแล้วก็ได้เวลาออกเดินทาง โดยเรือปฎิบัติการของบริษัท รีฟ แมเนจเมนท์ แล่นตรงออกจากอ่าวฉลอง มุ่งสู่เกาะราชา
วันนี้คลื่นลมไม่แรงมาก เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ระหว่างทางทีมงานเตรียมอุปกรณ์ดำน้ำ Scuba เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราสามารถลงน้ำทำงานได้เลยเมื่อถึงหมุดหมายใต้ทะเล จุดที่เราจะไปฟื้นฟูปะการังกัน
มองเห็นเกาะราชาอยู่ข้างหน้าแล้ว ทีมปลูกปะการังเตรียมชุดและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว
จุดที่ทางทีมปลูกจะพาเราลงไปสำรวจในวันนี้อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือหลักของเกาะราชามากนัก เมื่อกัปตันให้สัญญาณ ทีมปลูกบางส่วนก็ดำดิ่งลงไปยังจุดที่จะเก็บกิ่งพันธุ์ ซึ่งแนวทางหลักคือการเก็บกิ่งพันธุ์จากเศษปะการังแตกหักที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งหล่นกระจายทั่วไปในอ่าวหรือในบริเวณเกาะเดียวกันกับแนวปะการังที่เป็นพื้นที่ปลูก เพื่อให้มั่นใจว่ากิ่งพันธุ์ปะการังที่ นำมาปลูกสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ
ซึ่งการเลือกกิ่งพันธุ์ที่จะนำมาฟื้นฟูจะไม่เฉพาะเจาะจงชนิดพันธุ์ เพราะเป็นการรวบรวมเศษปะการังที่ยังมีชีวิตแต่แตกหักอยู่ในธรรมชาติ ส่วนใหญ่อยู่บนพื้นทรายรอบๆแนวปะการัง ในวันนี้เรารวบรวมกิ่งพันธุ์ทั้งปะการังโขด ปะการังกิ่งเขากวางและปะการังผิวเกร็ดน้ำแข็ง ได้มาพอสมควร


วันนี้น้องทีมปลูกได้นำกิ่งพันธุ์ที่เก็บรวบรวมไว้ในตะกร้า นำมาพักไว้ในจุดที่หลบคลื่น ลมกระแสน้ำ เพื่อเตรียมไว้สำหรับการปลูกในพื้นที่ที่กำหนดต่อไปในช่วงบ่าย
การปลูกกิ่งพันธุ์ปะการัง ทำโดยการยึดติดกิ่งหรือเศษปะการังที่รวบรวมมาได้ด้วยกาวอีพ็อกซี่บนฐานยึดเกาะ เช่น บนฐานปะการังที่ตายแล้วจำพวกปะการังโขด (Porites lutea) หรือปะการังรูปทรงแบบก้อน
หรืออีกวิธีคือการใช้ตะปูเหล็กความยาวประมาณ 2 นิ้วตองลงไปเพื่อเป็นแกนยึดแล้ว ใช้สายรัดพลาสติกยึดกิ่งพันธุ์ติดกับตะปูเหล็ก โดยก่อนจะติดอีพ๊อกซี่หรือตอกตะปูเราจะทำความสะอาดพื้นผิวของปะการังโขดที่ตายนี้ก่อน ดูแล้วก็ไม่ยากเลยเนอะ แต่คนที่จะทำงานนี้ได้ต้องควบคุมการลอยตัวได้อย่างดีมากๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองพลาดไปโดนปะการังหักซะเอง


กิ่งพันธุ์ปะการังทุกชิ้นที่ดำเนินการปลูกเสร็จเรียบร้อยแล้วจะถูกติดหมายเลขและถ่ายรูปไว้ติดตามการเจริญเติบโตต่อไป
หลังจากได้ดำน้ำลงไปสังเกตการณ์ ถ่ายรูปและทดลองปลูกปะการังฟื้นฟูตามขั้นตอนแล้ว เราก็กลับขึ้นมาพัก ระหว่างพักเบรคเลยหันไปถ่ายรูปเรือยอร์ชลำใหญ่ที่จอดสวยอยู่คู่กับเรือปลูกปะการังของเรา ทำให้คิดเลยว่าการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยเราสร้างนี่สร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจและบ้านเมืองของเรา ฝรั่งชาวต่างชาติเค้าทำงานเอาเงินมาเที่ยวบ้านเราทุกปี ดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่ได้ช่วยรักษาทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวของไทยให้คงอยู่ต่อไปถึงลูกหลาน



ระหว่างทางกลับฝั่งก็รับบรีฟในส่วนของการบริหารจัดการทีมงานการเก็บข้อมูลต่างๆ กลับถึงท่าเรือเกือบ 6 โมงเย็นพอดีครับ ต้องขอขอบคุณบริษัท รีฟ แมเนจเมนท์ จำกัด ที่อำนวยความสะดวกในทริปดูงานโครงการปลูกปะการังในครั้งนี้ ขอบคุณกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ทำให้เกิดโครงการดีดีแบบนี้กับทะเลไทย

แล้วกลับมาพบกันใหม่ในโพสต์หน้า โครงการปลูกปะการังแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ในพื้นที่เกาะทะลุ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เริ่มต้นแล้ว เราจะมาติดตามความก้าวหน้าของโครงการ ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงเรื่องราวต่างๆของคนปะการังในโพสต์ต่อไป ถ้าชอบบทความของเรากดแชร์ และคอมเมนท์ให้กำลังใจกันหน่อยนะครับ หรือกด subscribe จะได้มาเจอกันบ่อยๆ ^_^
ขอบคุณครับ
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Department Of Marine And Coastal Resources