jos55 instaslot88 ความเป็นมา..เป็นไป – Koh Talu Island Resort ดำน้ำดูปะการัง เกาะทะลุ บางสะพาน

ความเป็นมา..เป็นไป

ที่มาของโครงการ “ปลูกปะการังเกาะทะลุ”
วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2540  สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน ณ เกาะทะลุ อำเภอบางสะพานน้อย  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ได้มีคณะสำรวจจากกองทัพเรือภาคที่ 1 มาสำรวจพื้นที่ทางทะเล พร้อมทั้งเข้าสำรวจสภาพปะการังใต้ทะเลของเกาะทะลุ พบว่าปะการังยังคงความสมบูรณ์และสวยงามมากเมื่อเทียบกับแหล่งอื่นๆในอ่าวไทย  ในระหว่างเสด็จประทับ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ “นายปรีดา เจริญพักตร์” เจ้าของกรรมสิทธิ์สวนมะพร้าวบนเกาะทะลุ เข้าถวายรายงานเกี่ยวกับสภาพพื้นที่และความเป็นอยู่บนเกาะ ในครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ ให้พัฒนาเกาะทะลุและพื้นที่โดยรอบ ในแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์และสวยงามให้อยู่คู่ท้องถิ่นไทยตลอดไป “นายปรีดา  เจริญพักตร์” จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะฟื้นฟูทรัพยากรแนวปะการังที่เกิดวิกฤตการณ์สูญเสียมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมของโลกที่ไม่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การเปิดหน้าดินที่มีผลทำให้มีตะกอนไปทับถมแนวปะการัง การทำประมงที่ผิดวิธี ตลอดจนขาดความระมัดระวังและจิตสำนึกต่อการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลต่อการสูญเสียทรัพยากรแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์สวยงามติดอันดับโลก และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชาติ
“นายปรีดา  เจริญพักตร์”  ยังพัฒนาพื้นที่บนเกาะทะลุ และอ่าวมุก ให้เป็นที่พักและส่วนบริการท่องเที่ยว ชื่อว่า “บ้านมะพร้าว เกาะทะลุ”  ที่ออกแบบได้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติบนเกาะ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อย่างมีจิตสำนึก และด้วยความเป็นนักคิด นักพัฒนา และรักในถิ่นฐานทำมาหากิน จึงมีแนวคิดในการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติให้อยู่คู่กับชุมชนชาวเกาะทะลุ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกันปลูกปะการังอีกด้วย
ด้วยการเริ่มต้นพัฒนาแนวปะการัง อันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่  นำกิ่งปะการังที่หัก มาทดลองปลูกกับปะการังโขดที่ตายแล้ว พบว่าปะการังสามารถเติบโตได้เป็นอย่างดี   อีกทั้งยังลองผิดลองถูก ทดลองนำเศษเหล็กที่เหลือจากการก่อสร้างรีสอร์ท บริเวณอ่าวมุก มาเชื่อมเป็นฐานสำหรับเสียบตั้งปะการังที่หักพัง ประกอบกับท่อพีวีซีที่นำมาช่วยจัดโครงสร้างให้ปะการังตั้งลำต้นตรง และนำไปวางในระดับน้ำทะเลที่เหมาะสม เห็นว่าปะการังก็ยังเจริญเติบโตได้ดีอีกด้วย  โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งด้านหน้าอ่าวมุก  บางกิ่งสามารถโตได้ถึงปีละกว่า  10  เซนติเมตร การฟื้นฟูปะการังจึงต้องนำไปวางในระดับน้ำทะเลที่ลึก  วัดจากระดับน้ำลงสุดแล้ว ให้ลึกประมาณ 1-2 เมตร ก็จะพบว่าปะการังแปลงล้างขวด  ปะการังเขากวางเล็ก  ปะการังเขากวางใหญ่ สามารถเจริญเติบโตได้ในอัตรารอดที่ดีและแตกเป็นแขนงสมบูรณ์ 
การพัฒนาแนวปะการัง ชายฝั่งเกาะทะลุ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่น ทำให้คณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ เริ่มเข้ามาศึกษาดูงาน และเห็นความสำคัญของพื้นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลสูง พร้อมทั้งเข้ามาให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น  อาทิ 
ปี พ.ศ 2540   “อาจารย์รัตนา  โพธิสุวรรณ”  คณะเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เดินทางมาพร้อมกับสภาวิจัยแห่งชาติ และคณะอาจารย์มาดูงานยังศูนย์ประมงคลองวาน และเกาะทะลุ  พร้อมทั้งจุดประกายกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ให้กับเกาะทะลุ  โดยทุกปีจะพานักศึกษาคณะธุรกิจเกษตร  และคณะเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม มาทัศนศึกษาทำกิจกรรมปลูกปะการัง เพื่อเป็นตัวอย่างศึกษา  รวมถึงโครงการเลี้ยงหอยมือเสือในแนวปะการังธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ต่อมาหลังจากปรากฏการณ์เอลนิลโญ  ปะการังในหลายพื้นที่มีการฟอกขาวและหักพังไปบ้างนั้น  จึงมีความคิดที่จะพยายามรักษาปะการังที่เหลือไว้โดยการย้ายปะการังบางส่วนที่ยังไม่ตายลงไปในระดับน้ำลึกกว่า  และสามารถยืนต้นเติบโตต่อไปได้อีกด้วย 
ปี 2542 “อาจารย์ธรณ์  ธำรงนาวาสวัสดิ์”  ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้งบประมาณและเข้าทำการสำรวจชายฝั่งทะเล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบว่าภายหลังจากปรากฎการณ์เอลนิลโญ  ปะการังส่วนใหญ่ทางฝั่งเกาะทะลุ ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และบริเวณแนวน้ำลึกยังคงความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเลอยู่ จึงได้มีการพูดคุย และดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการังขึ้น    
หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2545  “อาจารย์ประสาน  แสงไพบูรณ์”  ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท วินีไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งมูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ขึ้น พร้อมทั้งเริ่มทำโครงการ “ปลูกปะการัง ๑๐,๐๐๐ กิ่ง”  ณ พื้นที่ชายฝั่งทะเล ของหมู่บ้านช่องแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
และได้นำปะการังบางส่วนมาปลูกยังเกาะทะลุ ใช้วัสดุปลูกด้วยท่อพีวีซี และมีการกลับมาเก็บข้อมูลเป็นระยะ ดังจะเห็นว่าปะการังที่ช่วยกันฟื้นฟูนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว  สร้างความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก  โดยลงแปลงอนุบาลปะการังไว้บริเวณหน้าอ่าวใหญ่ อีกประมาณ 60 แปลง แปลงละ 14 กิ่ง  ซึ่งความร่วมมือในโครงการ “ปลูกปะการัง ๑๐,๐๐๐ กิ่ง” ระหว่าง มูลนิธิกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ โดย บริษัท วินีไทย จำกัด (มหาชน) กับเกาะทะลุ โดย คุณปรีดา  เจริญพักตร์ ซึ่งเป็นแกนนำ  ประสบความสำเร็จจากการเพิ่มจำนวนปะการังจนเกิดการยอมรับและขยายแนวคิดไปยังพื้นที่ชายฝั่งที่ประสบปัญหา ส่งผลทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังมีการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมมากขึ้นเป็นลำดับ และ อาจารย์ประสาน แสงไพบูรณ์ ยังได้มาร่วมเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายให้กับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ที่เข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่เกาะทะลุ จนถึงประมาณกลางปี พ.ศ. 2550       จึงได้มีการขยายความร่วมมือ ยังทุกภาคส่วนให้เกิดเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น ในโครงการ วีนิไทย ร่วมใจปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า  เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระชนมมายุ  80 พรรษา อันประกอบด้วย 10  หน่วยงานที่ร่วมใจ ดังนี้
·        บริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
·        มูลนิธิกิจกรรมวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการอนุรักษ์ ในความอุปถัมภ์ของบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน)
·        กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
·        กองทัพเรือ  
·        คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี
·        องค์การบริหารส่วนตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
·        องค์กรเครือข่ายชุมชนรักษ์เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
·        เกาะทะลุ นำโดย เกาะทะลุ ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
·        เกาะขาม  ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จังหวัดชลบุรี
·        เกาะหวายภายใต้มูลนิธิ ICEF จังหวัดตราด
โดยมีเป้าหมายของโครงการ “ปลูกปะการัง ๘๐,๐๐๐ กิ่ง ที่เริ่มต้นเพื่อล้นเกล้า ใน 5 พื้นที่ ในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2556
·        เกาะเสม็ด          จังหวัดระยอง                                          จำนวน   10,000   กิ่ง
·        เกาะหวาย          จังหวัดตราด                                            จำนวน   10,000   กิ่ง
·        เกาะทะลุ            จังหวัดประจวบคีรีขันธ์                              จำนวน   10,000   กิ่ง
·        เกาะขาม            จังหวัดชลบุรี                                          จำนวน   10,000   กิ่ง
·        พื้นที่ชายฝั่งช่องแสมสาร  จังหวัดชลบุรี                                จำนวน   40,000   กิ่ง
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ  ภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2551-2556
ขั้นที่ 1  – ขั้นขยายกิ่งพันธุ์ปะการังสู่แปลงอนุบาลเพื่อการฟื้นฟู ใช้ระยะเวลา 2 ปี
ขั้นที่ 2  – ขั้นฟื้นฟูโดยปลูกปะการังคืนสู่ท้องทะเลไทย ใช้ระยะเวลา 2 ปี
ขั้นที่ 3  – ขั้นติดตามและประเมินผลโครงการในพื้นที่ต่าง ๆ ใช้ระยะเวลา 1 ปี
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.        แนวปะการังใต้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ
2.        เป็นแหล่งทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้กับประเทศ
3.        เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนาการฟื้นฟูแนวปะการัง
4.        ปลูกจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
รู้จักปะการัง
ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง สามารถเจริญอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีแสง และอุณหภูมิที่เหมาะสม การเจริญเติบโตของปะการังเป็นสภาวะพึ่งพากับสาหร่าย Zooxanthellae ซึ่งจะสังเคราะห์แสงให้ได้อาหารและแร่ธาตุในการเจริญเติบโตของปะการัง แม้ปะการังเป็นสัตว์แต่ก็มีการเจริญเติบโตที่คล้ายพืช ปะการังสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศซึ่งเกิดสั้น ๆ ในรอบปีและแบบไม่อาศัยเพศ ที่เกิดจากการแตกหักของชิ้นส่วนของปะการังแล้วแตกหน่อกิ่งก้านขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียง
วิธีการขยายพันธุ์ปะการัง
วิธีที่ 1 การใช้ PVC เป็นฐานยึกเกาะปะการัง การขยายพันธุ์ปะการัง จึงใช้หลักการตัดแยกกิ่งปะการังเขากวางจากแปลงอนุบาล ซึ่งจากการทดลองได้ใช้แปลงขนาด 0.6 เมตร X 1.2 เมตร จำนวน 14 ต้น/แปลง และมีการทดลองตัด เพื่อศึกษาความยาวที่โผล่พ้นท่อพีวีซีของกิ่งพันธุ์ที่เหมาะสม ได้แก่ 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 เซนติเมตร แบบมียอดและไม่มียอด พบว่าถ้าตัดมากกว่า 3 เซนติเมตรขึ้นไป จะมีอัตราการอยู่รอดมากกว่า 90%
วิธีที่ 2 การใช้ปะการังโขดหรือปะการังสมองที่ตายแล้วเป็นฐานยึดเกาะให้กับปะการัง นำกิ่งพันธืมาจากแปลงอนุบาลเช่นเดียวกัน ส่วนวัตถุดิบ หาได้จากธรรมชาติปริมาณและขนาดขึ้นอยู่กับแต่ละสถานที่ บางที่อาจมีปะการังโขดที่ถูกคลื่นหรือพายุพัดขึ้นมาเกยหาดจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ได้เลยเพียงแต่เลือกขนาดที่พอเหมาะไม่เล็กจนเกินไป นำมาเจาะรูโดยใช้สว่านให้ขนาดใหญ่กว่ากิ่งปะการังที่นำมาเล็กน้อย จำนวนกิ่งขึ้นอยู่กับขนาดของปะการังโขดที่เตรียมมา หลังจากเสียบกิ่งปะการังแล้วใช้เศษไม้อัดลงโดยรอบฐานปะการังกิ่งให้แน่นติดกับตัวปะการังโขด ตัดเศษไม้ที่เหลือให้เรียบร้อย แล้วนำลงวางบริเวณใกล้กับปะการังสมองก้อนใหญ่ในทิศทางที่อยู่ใต้ลม ให้สังเกตุจากธรรมชาติของกระแสลมและน้ำในบริเวณนั้นๆว่ามาจากทิศทางใดแรงที่สุดในรอบปี ก็ให้นำปะการังที่จะปลูกวางด้านใต้ลมให้ปะการังสมองก้อนใหญ่บังกระแสคลื่นลมไว้ ขณะวางปะการังโขดให้ขยับซ้ายขวาเพื่อให้ตัวปะการังโขดฝังลงในพื้นทรายพอสมควรเพื่อช่วยยึดฐานปะการังให้มั่นคงขึ้น ไม่กลิ้งในขณะที่มีกระแสคลื่นลมแรง
วัสดุปลูกปะการัง  พร้อมข้อดีและข้อเสีย
โครงการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางนี้ เป็นโครงการที่พัฒนาจากการศึกษาการช่วยชีวิตปะการังตั้งแต่ พ.ศ. 2537-2538 ด้วยวิธีตอกเหล็กข้ออ้อยยาว 50 เซนติเมตร ยึดติดกับท่อพีวีซี และนำกิ่งปะการังมาเสียบด้านบนของท่อพีวีซี พบว่าปะการังเขากวางที่ช่วยชีวิตนี้ไม่ล้ม สามารถเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งข้อดีของวิธีดังกล่าวนี้  คือมีอัตราการรอดชีวิตสูงเกือบ 100% ส่วนข้อเสียคือ จะต้องทำงานใต้น้ำเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 2544 จึงได้มีการพัฒนาเป็นแปลงเหล็กยึดท่อพีวีซีเพื่อการปลูกปะการัง ซึ่งพบว่าทำได้สะดวก มีอัตรการรอดชีวิตสูง แต่หลังจากปะการังโตแข็งแรงพอที่จะนำไปฟื้นฟูแล้ว ต้องทำการรื้อถอนฐาน PVC ออกจากกิ่งปะการัง ใช้งบประมาณ กำลังคน และเวลามาก
ทำไมจึงใช้ท่อพีวีซี
เนื่องจากแนวคิดของการขยายพันธุ์ปะการังเขากวางมีแนวที่จะแสวงหาวิธีการนำไปใช้ง่าย ๆ และสะดวก โดยที่เด็กและชาวบ้านก็สามารถทำได้ วัสดุที่ใช้ต้องมีความคงทนและราคาถูก พบว่าท่อพีวีซีมีคุณสมบัติทั้ง 2 อย่าง อีกทั้งมีความปลอดภัยต่อธรรมชาติ ปะการังสามารถเกาะยึดกับข้อต่อที่เป็นท่อพีวีซีได้อย่างกลมกลืน นอกจากนั้นยังพบว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น หอยนางรม ฟองน้ำ ปะการังชนิดอื่น รวมทั้งสาหร่าย สามารถเกาะและเคลือบผิวของท่อ เป็นวัสดุที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ และนอกจากนี้ คุณสมบัติของท่อพีวีซีมีความคงทนในธรรมชาติท้องทะเลเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเป็นการเหมาะสมที่จะนำท่อพีวีซี มาใช้ได้อีกหลาย ๆ รุ่น
อย่างไรก็ตามการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลของชาวเกาะทะลุมีมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง และมีการต่อยอดความร่วมมือ กับหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ที่หมุนเวียนกันมาให้การสนับสนุน   สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวเกาะทะลุ มีความหวงแหน มีจิตสำนึกที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพากรทางธรรมชาติ   ปัจจุบันได้มีการผลักดันให้เกิดความมีส่วนร่วม  ไปยังพื้นที่อ่าวบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย โดยศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 (จังหวัดชุมพร) สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ได้จัดเวทีเสวนาเพื่อจัดทำมาตรการบริหารจัดการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่องเที่ยวเกาะทะลุอย่างยั่งยืน  โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพราะสิ่งสำคัญยิ่งที่จะทำให้จะส่งผลสำเร็จในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและแนวปะการังนั้นก็คือความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน หมู่เกาะทะลุและอ่าวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงจะสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งประมงที่คงความอุดมสมบูรณ์สร้างเศรษฐกิจ พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่น นำพาประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นตลอดไป
เลือดนักพัฒนา ของนายปรีดา  เจริญพักตร์  ได้ถูกถ่ายทอดส่งผ่านยังทายาทรุ่นที่สอง ให้เจริญรอยตาม สืบสานต่อแนวคิดและพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ชาวเกาะทะลุมีความรัก และหวงแหนในทรัพยากรซึ่งเป็นสมบัติของชาติ และของทุกคนร่วมกัน 
You don't have permission to register