เกาะทะลุ บางสะพาน

ความหลัง และวันข้างหน้าของเกาะทะลุ

อยู่บ้านมานานกว่าสองเดือน อยากออกไปเที่ยวใจจะขาด คิดถึงบรรยากาศลมแผ่วๆ แสงแดดอุ่นๆ น้ำทะเลใสๆ ฝูงปลาน้อยใหญ่ในแนวปะการัง.. นั่งไถเฟสบุ๊ค memories ก็เตือนขึ้นมาว่าเมื่อปีที่แล้วเรากำลังไปทริปดำน้ำลุ้นฉลามวาฬกับเพื่อนๆ กลับไปค้นรูปในอัลบัมเก่าๆที่เซฟไว้เจอภาพหมู่น่ารักๆ เจอรูปคู่กับแฟน ไปร่วมกิจกรรมอาสาฯ เก็บขยะ ปลูกปะการัง ฯลฯ ภาพความสุขมากมายยิ่งทวีความทรมานใจขึ้นไปอีก คิดถึงเพื่อนๆทุกคน ไม่รู้ตอนนี้จะเป็นยังไงบ้างเพราะต่างได้รับผลกระทบจากโควิดกันถ่วนหน้า

ภาพเก่า เกาะทะลุ บางสะพาน

ด้วยสถานการณ์โควิดที่ยังไม่ชัดเจนและมาตรการณ์ของรัฐที่พยายามป้องกันไม่ให้การแพร่ระบาดกลับมาเกิดขึ้นอีกซ้ำสอง ตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่ามีผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงกับแย่มากด้วยเป็นช่วงไฮต์ซีซั่น ตอนนั้นนักท่องเที่ยวจีนเริ่มหายไปแล้ว แต่ยังมีแขกยุโรปทั้งที่เป็นแขกประจำที่จองล่วงหน้ามานานแล้วยังเดินทางท่องเที่ยวอยู่ จนกระทั้งยอดผู้ติดเชื้อในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาครัฐเริ่มประกาศมาตรการณ์ควบคุมการแพร่ระบาดแต่ก็เหมือนจะช้าไปแล้ว แขกต่างชาติทยอยเดินทางกลับประเทศเหลือแต่แขกคนไทยจนกระทั้งถึงวันที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน และตามมาด้วยเคอร์ฟิว คือเท่ากับศูนย์ แปลว่าเราต้องเตรียมตัวแล้วว่าเมื่อคนออกไปเที่ยวไม่ได้ เราก็ไม่มีแขก งานไม่มีก็ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินเดือนที่จะจ่ายให้กับพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟค่าใช้จ่ายต่างๆในรีสอร์ท และไม่ใช่แค่เรา ทุกคนและทั่วทุกที่ในโลกต่างได้รับผลกระทบ

อนุรักษ์เต่า เกาะทะลุ บางสะพาน

กลับมาตั้งสติ คิดถึงวันแรกที่เราตั้งใจทำการท่องเที่ยวบนเกาะทะลุ เราเริ่มต้นรีสอร์ทเล็กๆ เป็นบ้านไม้มะพร้าว 9 หลังในปีพ.ศ. 2539 ในยุคที่การท่องเที่ยวทางทะเลตามเกาะต่างๆยังมีไม่มากนัก มีแต่เพียงแหล่งท่องเที่ยวหลักๆอย่างภูเก็ต สมุย เกาะช้าง ตามแหล่งท่องเที่ยวเกาะแก่งหลักๆ เช่น พีพี หมู่เกาะสิมิลัน มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงมาก (ยังไม่มีโลวคอร์สแอร์ไลน์) ตอนนั้นถ้าจะเดินทางไปภูเก็ตขับรถอย่างเดียวไปกลับก็ใช้เวลา 2-3 วันแล้ว ต้องรอวันหยุดยาวอย่างเดียว แต่จริงๆคนไทยก็อยากเที่ยวเกาะไปดำน้ำ ในแหล่งที่ธรรมชาติสวยๆเหมือนกัน

การจัดแพคเก็จแบบ All-inclusive คือรวมทุกอย่าง ที่พักอาหาร กิจกรรม เรือเดินทาง เป็นทางออกนึงที่เราคิดได้ตอนนั้น มันช่วยควบคุมต้นทุนได้มากและสามารถทำราคาขายที่คนพอจะจ่ายไหว เริ่มจากราคาเพียงคนละ 500 บาท สำหรับแพคเก็จค้าง 1 คืนรวมทุกอย่าง เราใช้เรือสปีดโบ๊ทลำเล็กๆชื่อวินดี้ และมีพนักงานเพียง 2-3 คน ตอนนั้นเครื่องปั่นไฟทำงานเพียงแค่ครึ่งคืน ถึงเที่ยงคืนทุกอย่างมืดและเงียบสนิทได้ยินเสียงหายใจเลยแหละ ในบ้านเราจึงเตรียมตะเกียงน้ำมันก๊าซและพัดเผื่อไว้ให้แขกพอจะพักได้ในสไตล์แคมป์ปิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าก็คือเพื่อนๆของเราเองและนักท่องเที่ยวขาลุยแบบ Backpacker ลูกค้ามีเฉพาะเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น

ดำน้ำเกาะทะลุ

จริงๆ แล้วก่อนที่ครอบครัวของเราจะทำรีสอร์ทบนเกาะทะลุ ในอดีตเราเคยทำอาชีพประมงที่จังหวัดเพชรบุรี ตลอดสิบกว่าปีที่ทำประมง ปลาที่จับได้ลดลงอย่างน่าใจหาย ทุกปีจะมีเรือประมงที่ลำใหญ่ขึ้น จำนวนมากขึ้นถูกสร้างและออกสู่ทะเลอ่าวไทย อวนลากขนาดใหญ่กวาดจับสิ่งมีชีวิตทุกอย่างจากก้นทะเล ติดฝั่งติดเกาะแทบทุกที่ไม่มีเหลือช่องว่าง สัตว์ทะเลถูกแปลงเป็นสินค้า นำไปขายห้องเย็นส่งออก เป็นเงินเอากลับมาจ่ายให้ปั้มน้ำมัน จ่ายให้โรงเลื่อยไปตัดไม้มาต่อเรือให้ลำใหญ่ขึ้นไปอีก จ่ายให้บริษัทนำเข้าเครื่องยนต์และอวนจากต่างชาติ จ่ายค่าแรงงาน(ยุคหลังเริ่มเป็นต่างด้าวเกือบทั้งหมด) เหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์กลับมาถึงเจ้าของเรือ

พ่อแม่เราเริ่มรู้สึกว่าเราแข่งกันกวาดล้างทรัพยากรในทะเลไทยกันอย่างไม่บันยะบันยัง เพื่อมาสร้างเรือให้ใหญ่ขึ้นออกไปจับปลาได้ไกลขึ้น เพื่อนพ่อบางคนถูกยึดเรือ ถูกจับกลางทะเลเพราะเข้าไปลักลอบทำประมงในน่านน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมเราไม่ช่วยกันดูแลทั้งที่เมื่อก่อนมีปลาอยู่เหลือเฟือพอแบ่งให้ชาวประมงชายฝั่งได้ทำมาหากินบ้างแต่ทุกวันนี้ต้องทะเลาะแย่งพื้นที่กัน จึงตัดสินใจขายเรือทิ้งทั้งหมด แล้วพากันย้ายมาตั้งรกรากที่บางสะพาน แหล่งหากินในอดีตที่เคยสร้างรายได้จำนวนมาก

 

 

 

พ่อแม่เริ่มสร้างบ้านหลังเล็กๆ บนชายฝั่งบางสะพาน และบนเกาะทะลุซึ่งเป็นที่ดินสวนมะพร้าวเก่าของชาวบ้านครอบครัวหนึ่ง เราค่อยๆ เริ่มสร้างการท่องเที่ยวพร้อมๆ กับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเริ่มต้นผลักดันโครงการจัดการประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน วิธีการคือ ผลักดันกฏเกณฑ์บางอย่างมาควบคุมการประมงเชิงพาณิชย์ของเรือขนาดใหญ่ เพื่อให้มีปลาในอ่าวเหลือพอให้ชาวประมงเรือเล็กพื้นบ้านได้จับปลาบ้าง ผลที่เกิดขึ้นคือ อ่าวบางสะพานมีปลาให้จับมากขึ้น ชาวบ้านเรือเล็กได้มีรายได้มากขึ้น ในขณะที่คนมาเที่ยวเกาะทะลุก็ได้เห็นธรรมชาติที่ยังสวยงาม

เกาะทะลุ รีสอร์ท จึงเกิดจากความตั้งใจตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ที่อยากสร้างการท่องเที่ยวควบคู่กับการดูแลรักษาท้องทะเล เราทำโครงการบนเกาะหลายอย่างเพื่ออนุรักษ์ทะเลในนามมูลนิธิฯ เมื่อวันหนึ่งเราพบว่ามีแม่เต่าขึ้นมาวางไข่บนเกาะทะลุ และเป็นแบบนี้ทุกๆ ปี เราจึงตั้งมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยามขึ้นมาพร้อมๆ กับศูนย์อนุรักษ์เต่าทะเลบนเกาะ เพื่อดูแลเต่าทะเลเหล่านี้ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

 

 

อีกโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากคือโครงการปลูกปะการัง ที่สามารถฟื้นฟูแนวปะการังหน้าเกาะได้ดีกว่าที่คาด เกาะทะลุจึงมีแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ระดับต้นๆ ของอ่าวไทย แต่อยู่ใกล้ๆ แค่หน้าชายหาดที่พักบนเกาะ ซึ่งเราเชื่อว่าถ้าทำให้ทุกคนได้เห็น ได้สัมผัสโลกใต้ทะเลที่มีชีวิต ความสวยงานของท้องทะเลจะทำให้เกิดความรัก และทุกคนที่มาเที่ยวจะช่วยเป็นกำลังในการปกป้องทะเลของเราเพื่ออนาคตของลูกหลานเราเอง

การท่องเที่ยวดำน้ำที่อ่าวบางสะพานและเกาะทะลุเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว เริ่มมีทัวร์ท่องเที่ยวดำน้ำที่เกาะทะลุของชาวบ้านเกิดขึ้นหลายราย แต่การท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็วก็สร้างผลกระทบให้แนวปะการังเช่นกัน ทั้งเกิดจากเรือประมงดัดแปลงขนาดใหญ่ที่พานักท่องเที่ยวมาในแนวปะการังในช่วงน้ำแห้ง เมื่อท้องเรือติดก็ใช้กำลังของเครื่องยนต์ดันให้เรือหลุดจากปะการัง ปะการังจำนวนมากหักพังเพราะใบพัดเรือที่ดันน้ำอย่างรุนแรง การทิ้งสมอในแนวปะการังสร้างความเสียหายอย่างหนัก นักท่องเที่ยวจำนวนมาก มากเกินกว่าจะควบคุม หลายคนยืนเหยียบบนปะการัง บ้างให้อาหารปลาจับปลามาเล่น คนเรือไม่รู้และเพียงแต่ต้องการให้บริการลูกค้าประทับใจ

หลังจากเริ่มมีชื่อเสียงก็มีนักท่องเที่ยวมาเยอะขึ้นทุกวัน ความผิดพลาดจากการจอดเรือใกล้แนวปะการังเกินไปทำให้เรือติด การรบกวนธรรมชาติเพียงเล็กน้อยของนักท่องเที่ยว (ในความเข้าใจของทุกคนในขณะนั้น) แต่มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวันๆ ผ่านไปเพียง 1 ปี ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในแนวปะการังอย่างเห็นได้ชัด ปะการังที่เคยสมบูรณ์หักพัง ปลาที่ลดน้อยลง สัตว์ทะเลหลายที่เคยพบเห็นก็หายไป

 

 

ทุกอย่างเป็นดาบสองคม การท่องเที่ยวก็สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติอย่างไม่คาดคิดและไม่ตั้งใจ แต่เราก็เชื่อว่าถ้านักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ทักษะในการดำน้ำตื้นที่ถูกต้อง ก็จะดูแลตัวเองได้ แล้วก็จะไม่สร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติ ประจวบเหมาะกับเราได้ตั้งกลุ่ม Skindive Thailand ร่วมกับเพื่อนครูสอนดำน้ำและๆผู้ประกอบการอีกหลายคน ที่ใช้หลักสูตรการดำน้ำตื้นเบื้องต้นของสถาบัน BSAC (สถาบันดำน้ำแรกของโลกจากประเทศอังกฤษ) ซึ่งเดิมเราก็สอนการใช้อุปกรณ์ หน้ากาก ท่อ ชูชีพอยู่แล้วก่อนลงดำน้ำ แต่หลังจากได้รู้จักกับสถาบัน BSAC เราจึงเกิดไอเดีย นำหลักสูตรของเค้ามาปรับให้เข้ากับคนไทย ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี เครือข่ายของพวกเราสอนนักเรียน SkinDiving ไปมากกว่า 2 พันคน กลุ่มของเราเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราเชื่อว่า ไม่ว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้จะมาดำน้ำที่เกาะทะลุ หรือไปดำน้ำที่ไหน ก็จะดูแลธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น

 

 

เรารักทะเล และพยายามทำหลายสิ่งหลายอย่างให้ทะเลไทยของเราดียิ่งขึ้น ในขณะที่เรากำลังต้องก้าวผ่านวิกฤติอีกครั้ง เราก็บอกกับตัวเองว่าหลังจากมันผ่านพ้นไป เราจะทำให้ดียิ่งกว่าเดิม เราต้องช่วยผู้ประกอบการการท่องเที่ยวทางทะเลให้ฟื้นกลับมาในส่วนที่พวกเราสามารถทำได้ให้ได้มากที่สุด คนเหล่านี้มีทั้ง กิจการร้านอาหารเล็กๆที่เปิดขายนักท่องเที่ยวตามท่าเรือ รีสอร์ทเล็กๆที่เคยมีนักท่องเที่ยวช่วงเสาร์-อาทิตย์ เรือนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึกหรือการท่องเที่ยวโดยชุมชนประมงบางที่ต้องปิดตัวไป เราอยากจะบอกให้ทุกคนอดทนและหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น เรามีกำลังเท่าไหร่ เราจะสู้เต็มที่ เราจะจัดทริปไปให้มากที่สุด พานักท่องเที่ยวหลายคนที่เฝ้ารอจะได้ไปชมความสวยงามของท้องทะเลที่ฟื้นตัว จะไปใช้บริการทุกคนเท่าที่กำลังของพวกเราจะทำได้ เพื่อทำให้การท่องเที่ยวทางทะเลฟื้นกลับมา และขอให้ทุกคนมีกำลังใจต่อสู้ เป็นกำลังใจให้กันและกัน แล้วเราจะได้กลับมาพบกันอีกในไม่ช้า…เราสัญญา

 

You don't have permission to register