โครงการปลูกปะการังแบบบูรณาการ ตอนที่ 2
สวัสดีครับทุกคน
หลังจากห่างหายไปนาน วันนี้ก็ได้โอกาสกลับมาเล่าเรื่องราวของโครงการปลูกปะการังแบบบูรณาการ ตอนที่ 2 และ บ.รีฟเมเนจเมนท์ จำกัด ยังคงอยู่กับเราครับ
ไม่กี่วันหลังจากนั้น บ.รีฟแมเนจเมนท์ ส่งเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เกาะทะลุเพื่อมาอยู่เป็นพี่เลี้ยงช่วยเราทำงานอย่างใกล้ชิด งานนี้เหมือนเริ่มนับ 1 กันใหม่ เราต้องเริ่มจากแยกให้ได้ก่อนว่าปะการังเป็น / ตาย สังเกตยังไง เพราะเราต้องไปเลือกเก็บเศษส่วนปะการังชิ้นเล็ก ๆ ประมาณหัวแม่มือจากในธรรมชาติมาเพื่อปลูกฟื้นฟู ชิ้นส่วนพวกนี้เกิดได้จากทั้งสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น คลื่นลม หรือพื้นที่ยึดเกาะเดิมไม่มั่นคงเอง และฝีมือของมนุษย์เราเอง เช่น การทิ้งสมอลงในแนวปะการัง การเฉี่ยวชนจากเรือ หรือแม้กระทั่งนักท่องเที่ยวที่ขาดความระมัดระวังไปเตะเหยียบเอาก็ได้ จะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ณ วันที่เราไปเจอ ชิ้นส่วนปะการังเหล่านี้มีโอกาสที่จะรอดชีวิตอยู่น้อยแล้ว การเก็บพวกมันมายึดติดกับพื้นที่แข็งแรงมั่นคงจึงเป็นทางหนึ่งที่จะให้โอกาสพวกมันได้ไปต่อ
แต่ช้าก่อนนนนนน!! ในขณะที่เราพยายามช่วยปะการังชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง เราก็ต้องระมัดระวังไม่ไปสร้างความเดือดร้อนในกับปะการังก้อนอื่น ๆ ที่อยู่ในแนวปะการังเดิมอยู่แล้ว เพราะปะการังมีการแก่งแย่งพื้นที่กันด้วยการยื่นหนวดที่เต็มไปด้วยเข็มพิษ (nematocysts) ไปโจมตีเพื่อนบ้านทำให้เนื้อเยื่อของเพื่อนบ้านตายได้ ดังนั้นตอนเลือกที่ยึดติดเศษปะการังก็ต้องแน่ใจว่าเราเว้นระยะห่างมากพอที่มันจะไม่กวนใคร และไม่โดนเจ้าบ้านเดิมรังแกตายไปซะก่อนที่มันจะตั้งตัวลงหลักปักฐานได้
ความเข้าใจมี!! อุปกรณ์พร้อม!! ก็ลงน้ำกันไปได้เลย ในทุก ๆ วันที่ทำงาน เราจะเริ่มเก็บหาชิ้นส่วนปะการังที่แตกหัก ตกหล่นอยู่ตามพื้นก่อน เศษชิ้นส่วนปะการังที่พบรอบ ๆ เกาะทะลุ ส่วนมาก คือ ปะการังลายกลีบดอกไม้ (Pavona sp.) ปะการังผิวเกล็ดน้ำแข็ง (Montipora sp.) ปะการังโขด (Porites sp.)
การยึดติดเราจะเลือกวิธีตามรูปทรงของปะการังที่เก็บมาได้ ถ้าปะการังรูปทรงแบบกิ่งเราจะใช้ตะปูคอนกรีตขนาด 3 นิ้วตอกลงไปบนฐานปะการังตายก่อน จากนั้นเอาชิ้นปะการังไปวางแนบกับตะปู รัดด้วยสายรัดพลาสติก ขั้นตอนนี้ส่วนสำคัญคือเราต้องให้ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่สัมผัสกับฐานปะการังตายด้วย เพราะหลังจากนี้เศษปะการังของเราจะเติบโตเคลือบลงไปยึดที่ฐาน ไม่ต้องกลิ้งไปกลิ้งมาบนพื้นอีกต่อไป
ส่วนปะการังแบบก้อน หรือแบบแผ่นตั้ง แม้จะมีบ้าง แต่ก็ไม่เยอะนัก เราจะใช้กาวอีพ็อกซี่ดินน้ำมัน ที่มีชื่อเล่นว่า “มหาอุด” ยึดปะการังของเราเข้ากับฐานปะการังตาย กาวดินน้ำมันอันนี้จะมาเป็นชุดแยกส่วน A และ B มา เราก็ต้องพาลงน้ำไปทั้งห่อพลาสติกนั่นแหละแล้วไปแกะออกมานวดผสมกันใต้น้ำ ภาพที่เกิดขึ้นเวลาทำงานก็จะคล้ายๆ การนวดแป้งขนมปังใต้น้ำ จัดว่าเป็นการฝึกฝน Buoyance และฝึกสมาธิที่ดีมากทีเดียว เพราะเราต้อง focus กาวที่ควรจะต้องเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน และเราก็ต้องหามุมดีๆ ที่จะสามารถพักทำนวดแป้ง เอ๊ยยย นวดกาวโดยไม่ไปสัมผัสปะการังด้วย
ใครที่เป็นมือใหม่เพิ่งเข้ามาร่วมทีมก็มักจะได้รับหน้าที่นี้ไปจะได้สังเกตการทำงานของรุ่นพี่ๆ ไปในตัว สำหรับการยึดติดเศษชิ้นส่วนปะการังด้วยกาวอีพ็อกซี่ เราจะต้องกำจัดสิ่งมีชีวิตเกาะติดบนพื้นผิวและตะกอนที่ปกคลุมอยู่บนซากปะการังตายเสียก่อน สิ่งมีชีวิตเกาะติดที่เราต้องกำจัดออก ได้แก่ สาหร่ายเส้นใยขนาดเล็ก ฟองน้ำ พรมทะเล เห็ดทะเล เราใช้แปรงลวดขัดพื้นผิวแล้วค่อยแบ่งกาวอีพ็อกซี่ให้ขนาดเล็กกว่าปะการังเล็กน้อย กดกาวลงไปที่ฐานปะการังตายหรือหินแล้วจึงกดปะการังลงไปบนกาวอีพ็อกซี่อีกที ถ้างานนวดแป้งใต้น้ำของเราทำได้ดีอีก 12 ชั่วโมง กลับมาแป้งนิ่มๆก้อนนี้ก็จะแข็งเหมือนปูนเลยทีเดียว
กว่า 6 เดือนที่พวกเราชาวมูลนิธิคลุกคลีอยู่กับปะการังและการดำน้ำ พวกเราได้เรียนรู้และเข้าใจปะการังมากขึ้น เป้าสองหมื่นกว่ากิ่งหน้าอ่าวมุกและอ่าวเทียน หากเทียบกับงานที่ฟื้นฟูปะการังด้วยท่อ PVC จำนวนสองหมื่นกิ่ง ถือว่าไม่มาก แต่เมื่อกลับมาทบทวนดูก็ต้องบอกเลยว่างานนี้น้อยแต่มาก ด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ที่ต้องอาศัยความเข้าใจในอีกขั้น การทำงานที่ติดตามตรวจสอบได้ เราจึงต้องขอบคุณทีมงานทุกคนทั้งที่แวะเวียนมาและอยู่ประจำ ทำงานกันจนจบ และที่ขาดไม่ได้คือการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเกาะทะลุไอส์แลนด์รีสอร์ท ที่เห็นความสำคัญของภารกิจ ให้เราสามารถตั้ง station ทำงานบนเกาะ และยกแพให้ใช้สำหรับตั้ง Station ทำงานกลางทะเล นอกจากความสำเร็จตามเป้าหมาย เราหวังว่ามันคือโอกาสเล็ก ๆ ที่พวกเราสามารถตอบแทนให้กับแนวปะการังหน้าบ้านที่เราเก็บหาใช้ประโยชน์กัน และตั้งตารอว่าอีกหลายๆ ปีต่อไปเราจะได้เห็นการเติบโตของปะการังที่ช่วยไว้ยังไงบ้าง
ความบันเทิงหนึ่งในการทำงานก็คือวันไหนที่ไม่มีแพ ไม่ว่าจะด้วยแพเสีย แพไม่ว่าง หรือใดๆ เราก็อาจจะได้มีทริปพิเศษเอาอุปกรณ์ดำน้ำและอุปกรณ์ทำงานทั้งหมดใส่รถเข็นลากจากที่พักมาหน้าหาดจุดที่เราจะลงทำงานใส่ชุดแล้วเดินลงทะเลไปเลยยยยย ดำน้ำเสร็จก็เดินกลับขึ้นมาที่เดิมปลดอุปกรณ์ใส่รถเข็นแล้วก็ลากกลับฐานที่ตั้งของเรา
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Department Of Marine And Coastal Resources