10 เรื่องมหัศจรรย์ของ “ฉลามวาฬ”
ตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวประมงเชื่อกันว่าถ้าออกเรือแล้วเจอฉลามวาฬคือโชคดี สิ่งนี้ไม่ใช่ความเชื่อ แต่ฉลามวาฬนั้นชอบกินแพลงตอน และชอบเข้ามาในแนวปะการังให้ปลาเล็กปลาน้อยทำเข้ามาทำความสะอาดร่างกาย ดังนั้น ถ้าเจอฉลามวาฬที่ไหน ก็แปลว่าธรรมชาติที่นั่นอุดมสมบูรณ์ดี
ที่เกาะทะลุ เราโชคดีที่เจอฉลามวาฬบ่อย เราดีใจที่ฉลามวาฬบอกเราว่า ธรรมชาติที่นี่อุดมสมบูรณ์มากพอสำหรับปลาตัวใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้น ถ้าใครได้มาเกาะทะลุ ก็จะมีโอกาสเจอฉลามวาฬ แต่ก่อนจะได้เจอกันนั้น เราอยากให้รู้ถึงเรื่องราวมหัศจรรย์ของปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกกัน
1. ชื่อปลาฉลามวาฬ อาจทำให้สับสนว่า เป็นปลาฉลาม หรือวาฬ กันแน่? แท้จริงแล้วปลาฉลามวาฬเป็นปลาฉลามชนิดหนึ่งในจำนวน 440 ชนิดทั่วโลก แต่มันถูกตั้งชื่อว่า “ฉลามวาฬ” เพราะขนาดตัวที่ใหญ่มาก
2. เราอาจเคยรู้มาว่า วาฬสีน้ำเงิน คือสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่เพราะ “วาฬ” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลา จึงทำให้ปลาฉลามวาฬครองอันดับปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปลาฉลามวาฬตัวเต็มวัยอาจมีความยาวถึง 24 เมตร หนักถึง 42 ตัน เรียกว่าขนาดใหญ่พอๆ กับรถบัสที่ดำน้ำได้
3. เห็นตัวใหญ่ขนาดนี้ แต่ปลาฉลามวาฬนั้นกินสัตว์เล็กๆ ที่มีขนาดเล็กจนแทบมองไม่เห็นอย่างแพลงตอน วิธีการกินอาหารของปลาฉลามวาฬคือว่ายน้ำอ้าปากไปเรื่อยๆ แล้วดูดน้ำทะเลผ่านเข้าปากเพื่อกรองเอาแพลงตอนเป็นอาหาร ว่ากันว่า ปลาฉลามวาฬสามารถกรองน้ำทะเลคิดเป็นปริมาตร 5,000 ลิตร ต่อชั่วโมง
4. ถึงจะเป็นปลาฉลาม แต่ปลาฉลามวาฬกลับมีพฤติกรรมและรูปลักษณ์ตรงกันข้ามกับปลาฉลามอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง ดูอย่างปลาฉลามทั่วๆ ไปนั้นมีหัวที่แหลม ลำตัวปราดเปรียว ที่ถูกธรรมชาติดีไซน์มาให้ว่ายน้ำได้รวดเร็ว แต่ปลาฉลามวาฬกลับมีหัวบานๆ ทู่ๆ เพื่อให้มันมีปากกว้างๆ ไว้กินแพลงตอน และมันก็ว่ายน้ำช้ามาก แค่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
5. ถึงจะว่ายน้ำช้าอย่างนี้ แต่ปลาฉลามวาฬคือนักเดินทางผู้ยิ่งใหญ่ ว่ากันว่าในช่วงชีวิตของปลาฉลามวาฬตัวหนึ่ง มันเดินทางเป็นระยะทางกว่าล้านกิโลเมตร หรือเทียบเท่าการเดินทางรอบโลก 25 รอบ
6. ปลาฉลามวาฬเดินทางไปทั่วมหาสมุทร บางทีอาจว่ายน้ำลงไปใต้ผิวทะเลลึกกว่า 1,000 เมตร และบางทีก็ว่ายขึ้นมากินแพลงตอนที่ผิวน้ำ ทำให้นักดำน้ำทุกคน ไม่ว่าจะดำลึกหรือดำผิวน้ำ เราอาจมีโอกาสเจอปลาฉลามวาฬได้ และนั่นคือโชคดีที่เราหากันจนเจอ
7. เราอาจเจอปลาฉลามวาฬได้ตามกองหินใต้น้ำต่างๆ ที่มีฝูงปลาอาศัยอย่างชุกชุม และปลาฉลามวาฬไม่ได้ว่ายเข้าไปที่นั่นเพื่อกินปลา แต่มันเข้าไปใน “Cleaning Station” เพื่อให้ปลาอื่นๆ ว่ายเข้ามาเกาะติดและถูไถเพื่อทำความสะอาดลำตัว เวลาเราเจอปลาฉลามวาฬ เราจึงจะเห็นปลาลูกสมุนเล็กๆ ว่ายตามมาเป็นฝูง
8. คนที่คุ้นเคยกับทะเลต่างรู้ดีว่า ปลาฉลามวาฬคือยักษ์ใหญ่ที่ใจดีและผู้พันธ์กับมนุษย์มาตลอด ชาวประมงหลายทวีปทั่วโลกมีตำนานและนิทานเกี่ยวกับปลาฉลามวาฬ และนักดำน้ำหลายคนก็คงเคยว่ายน้ำเล่นกับปลาฉลามวาฬมาแล้ว
9. นักดำน้ำชอบเรียกปลาฉลามวาฬว่า “น้องจุด” เพราะลายจุดบนลำตัว รู้หรือไม่ว่า ลายจุดบนปลาฉลามวาฬแต่ละตัวนั้นไม่เหมือนกันเลย ถ้าใครเคยเจอและถ่ายรูปปลาฉลามวาฬตัวไหนบ่อยๆ อาจสามารถจำแนกได้ว่าเราเจอกันบ่อยแค่ไหน
10. น้องจุดอาจไม่ใช่น้อง เพราะปลาฉลามวาฬมีอายุขัยเฉลี่ย 70-100 ปี หรืออาจถึง 130 ปี แต่บางตัวก็อยู่ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะภัยคุกคามที่ปลาฉลามวาฬต้องเจอนั้นยังมีหลายอย่าง ทั้งติดอวนประมง และยังกินขยะพลาสติกที่มีอยู่ในทะเลมากมายเหลือเกิน